ข้อวัตรปฏิบัติพระสงฆ์
ข้อกติกาสงฆ์ในวัดวิปัสสนารังกาใหญ่
๑. พระเณรห้ามขอของแต่คนใช่ญาติใช่ปวารณา และห้ามติดต่อกับคฤหัสถ์ และนักบวชอันเป็นวิสภาคกับพุทธศาสนา
๒. ห้ามบอกและเรียนติรัจฉานวิชา บอกเลข ทำน้ำมนต์ หมอยา หมอดู ทำและแจกจ่ายวัตถุมงคลต่าง ๆฯ
๓. พระผู้มีพรรษาหย่อน ๕ ห้ามไม่ให้เที่ยวไปแต่ลำพังตัวเอง เว้นแต่มีเหตุจำเป็นหรือมีอาจารย์ผู้สมควรติดตามไปด้วย
๔. เมื่อจะทำอะไรให้ปรึกษาสงฆ์ หรือ ผู้เป็นประธานในสงฆ์เสียก่อน เมื่อเห็นว่าเป็นธรรม เป็นวินัย และจึงทำอย่าทำตามอำนาจตัวเองฯ
๕. ให้ยินดีในเสนาสนะที่สงฆ์จัดให้ และให้ทำความสะอาดเก็บกวาดกุฏิ ถนนเข้าออกให้สะอาด
๖. เมื่อกิจของสงฆ์เกิดขึ้นให้พร้อมกันทำ เมื่อเลิกให้พร้อมกันเลิก อย่าทำตนให้เป็นที่รังเกียจของหมู่คณะ คือ เป็นผู้มายาสาไถย หลีกเลี่ยง แก้ตัว
๗. เมื่อฉันบิณฑบาต เก็บบาตร ล้างบาตร กวาดวัด ตักน้ำ สรงน้ำ จัดโรงฉัน ย้อมผ้า ฟังเทศน์เหล่านี้ ห้ามมิให้คุยกันพึงตั้งใจทำกิจนั้นจริงๆ
๘. เมื่อฉันเสร็จแล้ว ให้พร้อมกันเก็บกวาดโรงฉันให้เรียบร้อยเสียก่อน แล้วจึงกราบพระพร้อมกัน และ นำบริขารของตนกลับกุฏิโดยสงบฯ
๙. ให้ทำตนเป็นผู้มักน้อยในการพูด กิน นอน ร่าเริง จงเป็นผู้ตื่นอยู่ด้วยความเพียร และจงช่วยกันพยาบาล ภิกษุ สามเณร อาพาธด้วยความเมตตาฯ
๑๐. ห้ามรับเงินและทอง และห้ามผู้อื่นเก็บไว้เพื่อตน ห้ามซื้อขายแลกเปลี่ยนฯ
๑๑. เมื่อเอกลาภเกิดขึ้นในสงฆ์หมู่นี้ ให้เก็บไว้เป็นกองกลาง เมื่อท่านองค์ใดต้องการ ให้สงฆ์อนุมัติแก่ท่าน องค์นั้น โดยสมควร
๑๒. ห้ามคุยกันเป็นกลุ่มก้อนทั้งกลางวันและกลางคืนในที่ทั่วไป หรือในกุฏิ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นถึงกระนั้นก็อย่าเป็นผู้คลุกคลีและเอิกเกริกเฮฮา ห้ามสูบบุหรี่ กินหมากฯ
๑๓. การรับและส่งจดหมาย เอกสาร หรือวัตถุต่างๆ ภายนอกห้องแจ้งต่อสงฆ์ หรือผู้เป็นประธานสงฆ์รับทราบทุกคราวไป เมื่อสงฆ์หรือผู้เป็นประธานสงฆ์เห็นสมควรแล้ว จึงรับส่งได้ฯ
๑๔. พระเณรที่มุ่งเข้ามาปฏิบัติในสำนักนี้ เบื้องต้นต้องได้รับใบฝากจากอุปัชฌาย์อาจารย์ของตน และย้ายสุทธิมาให้ถูกต้องเสียก่อนจึงจะใช้ได้ฯ
๑๕. พระเณรที่เป็นอาคันตุกะมาพักอาศัย ต้องนำสุทธิแจ้งสงฆ์ หรือผู้เป็นประธานสงฆ์ในคืนแรก และมีกำหนดให้พักได้ไม่เกิน ๓ คืน เว้นแต่มีเหตุจำเป็นฯ
พระวินัยคืออะไร
พระวินัย คือ ระบบแบบแผนต่างๆ ที่กำหนดความประพฤติ ความเป็นอยู่ และกิจการของสงฆ์ทั้งหมด เป็นสิ่งที่ครอบคลุมชีวิตด้านนอกของภิกษุสงฆ์ทุกแง่ทุกมุม
พระวินัย ประกอบด้วยสิกขาบทต่างๆ มากมาย มีทั้งข้อกำหนด เกี่ยวกับความเป็นอยู่ส่วนตัว ความสัมพันธ์ระหว่างพระภิกษุด้วยกัน ความสัมพันธกับคฤหัสถ์ทั้งหลายตลอดจนการปฏิบัติต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ระเบียบว่าด้วยการปกครอง และการดำเนินกิจการต่างๆของสงฆ์ ระเบียบเกี่ยวกับการแสวงหา การจัด เก็บรักษาแบ่งสันปันส่วนปัจจัย ๔ ฉะนั้นเมื่อรวมข้อห้ามและข้ออนุญาตแล้วก็มีมาก จนกระทั่งหลวงพ่อเคยบอกว่านี้ มีเป็นโกฏิเป็นกือ
เหตุผลที่พระพุทธองค์ทรงปรารภในการบัญญัติสิกขาบทแก่สงฆ์มี ๑๐ ประการ
๑. เพื่อความเรียบร้อยดีงามแห่งสงฆ์
๒. เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์
๓. เพื่อกำราบคนหน้าด้านไม่รู้จักอาย
๔. เพื่อความอยู่ผาสุกแห่งเหล่าภิกษุผู้มีศีลดีงาม
๕. เพื่อปิดกั้นความเสื่อมเสีย ความทุกข์ ความเดือดร้อน ที่จะมีในปัจจุบัน
๖. เพื่อบำบัดความเสื่อมเสีย ความทุกข์ ความเดือดร้อน ที่จะมีในภายหลัง
๗. เพื่อความเลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส
๘. เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นของคนที่เลื่อมใสแล้ว
๙. เพื่อความดำรงมั่นแห่งสัทธรรม
๑๐. เพื่อส่งเสริมความเป็นระเบียบเรียบร้อย สนับสนุนวินัยให้หนักแน่น
พระวินัยจึงมีอานิสงส์ทั้งในแง่ของการปฏิบัติธรรมส่วนตัวของพระและในแง่ส่วนรวมของสงฆ์
กิจวัตรประจำวัน
เพื่อความเป็นสัมมาปฏิปทา อันเป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลส และเพื่อสร้างจริตนิสัยอันดีงาม
เวลา ๐๔.๐๐ น รวมที่ศาลา ทำวัตรเช้า นั่งสมาธิ
เวลา ๐๕.๐๐น ทำความสะอาดโรงฉัน จัดอาสนะ ออกบิณฑบาต
เวลา ๐๗.๐๐ น รับแจกอาหาร ฉันบิณฑบาต
เวลา ๑๐.๐๐ น ทำความสะอาดโรงฉัน ฟังโอวาท กราบพระพร้อมกัน กลับกุฏิของตน ทำความเพียร เดินจงกรม นั่งสมาธิ
เวลา ๑๔.๐๐ น ทำกิจส่วนรวมพร้อมกัน เช่น ทำความสะอาดศาลา โบสถ ลานวัด ถนน และปฎิสังขรณ์ ซ่อมแซมสถานที่ต่างๆ
เวลา ๑๖.๐๐ น ฉันน้ำปานะ สรงน้ำ เดินจงกรม
เวลา ๑๘.๐๐ น นั่งสมาธิ ทำวัตรเย็น ฟังพระธรรมวินัย
ข้อวัตรปฏิบัติ
ข้อวัตรปฏิบัติ กฎกติกาที่ตั้งไว้ คือทางแห่งมรรคผลนิพพาน
ถ้าใครไปฝ่าฝืนข้อกติกานั้นแล้ว ก็ไม่ใช่พระ
ไม่ใช่คนที่ตั้งใจมาปฏิบัติ
เขาจะไม่ได้พบเห็นอะไรเลย
ถึงแม้จะอยู่กับผมทุกคืนทุกวันก็ไม่เห็นผม
จะอยู่กับพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้า.